ปัจจุบัน แนวโน้มการใช้งานอุปกรณ์ไร้สาย เริ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจาก ต้นทุนในการจัดตั้งระบบที่ไม่แพง ความรวดเร็วในการจัดทำระบบ และง่ายต่อการติดตั้งและบำรุงรักษา ตั้งแต่ UBC Cable จนมาเป็น UBC จานแดง โทรศัพท์พื้นฐาน ก็ ถูกแทนที่ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ เมาส์ คีย์บอร์ดมีสาย ก็เปลี่ยนเป็น เมาส์ คีย์บอร์ดไร้สาย เครือข่าย LAN ก็ เปลี่ยนเป็น WIFI หรือแม้กระทั่งหูฟังมีสาย ก็เปลี่ยนมาเป็นหูฟัง Bluetooth ซึ่งก็ทำให้เพิ่มมูลค่าของอุปกรณ์ได้ไม่น้อย แต่เมื่อเรามามองในมิติของความปลอดภัยของข้อมูล หรือมิติของความปลอดภัยในสุขภาพแล้ว เราจะพบว่า มีการกล่าวถึงเรื่องของความปลอดภัยน้อยมาก ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในมิติด้านความปลอดภัย และข้อแนะนำในการนำเทคโนโลยีไร้สายไปใช้งานต่อไป โดยจะเน้นไปที่เรื่อง ระบบ WIFI หรือ Wireless LAN ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ความปลอดภัยทางด้านสุขภาพ
ปัจจุบันยังไม่มีบทความ หรือเอกสารทางวิชาการใดๆ ที่กล่าวถึงอย่างชัดเจน ในเรื่องสัญญาณที่แพร่กระจายจากอุปกรณ์เครือข่ายไร้สาย ที่มีผลเสียต่อสุขภาพ แต่ที่เห็นได้ชัดคือ ประเด็นของเรื่องความถี่ ในการรับส่งข้อมูลของอุปกรณ์ไร้สาย ซึ่งเมื่อดูตามมาตรฐานของอุปกรณ์ทั่วไปที่มีขายตามท้องตลาด เราจะพบว่า ส่วนใหญ่อุปกรณ์จะใช้ความถี่ย่าน 2.4GHz ซึ่งเป็นความถี่ที่อนุญาตให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน กสทช. ซึ่งในอนาคตอันใกล้เราจะพบอุปกรณ์ที่ใช้ย่านความถี่ 5 GHz อีก 1 ย่านความถี่ ที่ถูกนำมาใช้งาน เนื่องจากปัจจุบัน ถือเป็นย่านความถี่ที่อนุญาตให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากหน่วยงาน กสทช. เช่นเดียวกัน
เมื่อกลับมาสำรวจตลาดอุปกรณ์ไร้สายที่ย่านความถี่ 2.4 GHz พบว่าไม่เฉพาะอุปกรณ์โทรคมนาคมอย่างเดียวที่ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าว แต่มีอุปกรณ์ต่างๆมากมายที่นำความถี่ย่านนี้มาใช้ โดยขอสรุปเป็นอุปกรณ์หลักๆได้ดังนี้ อุปกรณ์จำพวกที่เชื่อมต่อด้วย Bluetooth (IEEE 802.15) อุปกรณ์ WIFI (Wireless LAN IEEE 802.11 b/g/n) อุปกรณ์โทรศัพท์บ้านไร้สายบางผลิตภัณฑ์ ของเล่นบังคับวิทยุที่นำเข้าจากประเทศจีน กล้องวงจรปิดไร้สายบางผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งความถี่ 2.4 GHz ที่กล่าวถึงนั้น ถ้าเรียกกันตามภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือ “ความถี่ช่วงคลื่นไมโครเวฟ” ซึ่งก็คือสัญญาณเดียวกันกับที่เรานำมาใช้ในเรดาห์ตรวจจับวัตถุอากาศยาน ที่เป็นจานหมุนๆ อยู่ตามสนามบิน เนื่องจากช่วงคลื่นไมโครเวฟ มีคุณสมบัติสะท้อนโลหะได้ดี และ เตาอบไฟฟ้าไมโครเวฟ นั่นเอง
ดังนั้นจะเห็นว่า ความถี่ที่ถูกส่งออกมาจากอุปกรณ์ต่างๆ นั้น เป็นความถี่เดียวกับที่เราใช้ในการอุ่นอาหาร หรือทำอาหารให้สุกได้ ดังนั้นจึงขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่า “ถ้าเราอยู่ใกล้จุดรับส่งสัญญาณ หรืออยู่ในพื้นที่ ที่รับ – ส่ง สัญญาณด้วยกำลังส่งที่สูง เป็นเวลานานๆ จะเป็นเช่นไร???” หรือศึกษาเพิ่มเติมได้จาก ราชกิจจานุเบกษา ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
ความปลอดภัยในการใช้งาน
ต้องยอมรับว่า เครือข่ายไร้สาย มีเสถียรภาพ และความปลอดภัยที่ต่ำกว่า เครือข่ายแบบมีสายอยู่มากพอสมควร เช่น ถ้าเปรียบเทียในการรับส่งข้อมูลแบบ Plain Text (ไม่ได้เข้ารหัสข้อมูล) หากเป็นเครือข่าย LAN ทั่วไป หากเราต้องการดักจับ ข้อมูล วิธีการที่เป็นพื้นฐานที่สุด ก็คือการ Tap สาย เพื่อดักจับข้อมูล เช่น ถ้าเป็น Ethernet 10Base-T หรือ Ethernet 100Base-TX ผู้ดักจับข้อมูลก็จะทำการ Tab สาย UTP หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าสายแลน เส้นที่ 1,2 (Transmit Pair) และ 3,6 (Received Pair) หรือไม่ก็ใช้อุปกรร์ HUB เพื่อให้ข้อมูลมีการกระจายมาถึงผู้ดักจับข้อมูล หรือว่า ถ้าเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Switching HUB หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Switch ก็จะใช้ Function จำพวก Mirror Port หรือการ Forward ข้อมูลมาที่ Port ที่ผู้ดักจับข้อมูลเชื่อมต่ออยู่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต้องใช้ความสามารถ และต้องใช้ความพยายามในการดักจับข้อมูลสูง ส่วน Wireless LAN นั้น เพียงแค่ผู้ดักจับข้อมูลอยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณ WIFI จากเป้าหมายที่ต้องการ แพร่มาถึง ผู้ดักจับข้อมูลก็สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้โดยสะดวก และค้นหาผู้กระทำความผิดได้ยากมาก เนื่องจากเป็นการรับสัญญาณ ที่แพร่มาในอากาศ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อเข้าระบบก่อนแต่ประการใด จึงมี “มิจฉาชีพ” จำนวนไม่น้อย ทำการดักจับข้อมูลและนำไปแสวงหาประโยชน์จนเป็นอาชีพ
ความเสถียรของสัญญาณ
ตามมาตรฐานที่กำหนดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องแม่ข่าย จะต้องเชื่อมสัญญาณผ่านเครือข่าย LAN เนื่องจาก มีความเสถียรภาพในการรับส่งข้อมูลมากกว่าเครือข่าย Wireless LAN ส่วนเหตุผลที่สัญญาณเครือข่ายไม่มีเสถียรภาพนั้น เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ในบริเวณที่ใช้งานมีอุปกรณ์ตัวอื่นๆ แพร่สัญญาณ ด้วยช่องสัญญาณเดียวกัน ก็จะมีสัญญาณรบกวนเกิดขึ้น (Noise) จึงมีารวัดค่าเปรียบเทียบ สัญญาณที่ต้องการเทียบกับสัญญาณรบกวนเกิดขึ้น หรือที่เรียกว่า Signal to Noise Ratio นั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปที่พบว่าผู้ใช้งานเมื่อนำอุปกรณ์มาใช้งานนั้น ส่วนใหญ่จะตั้งค่าการใช้งานตามที่มีมาจากโรงงาน เพราะไม่ทราบว่าจะต้องปรับแต่งค่าอย่างไร ซึ่งอุปกรณ์ทั่วไปก็จะตั้งค่าเริ่มต้นเป็น ช่อง 1 กับช่อง 11 ดังนั้น หากท่านผู้อ่านเจอปัญหา WIFI 3 วันดี 4 วันไข้ สัญญาณแรง แต่ไม่สามารถใช้งานได้ดี ดังนั้นข้อมูลที่ควรนำมาเป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์หาสาเหตุก็คือ เรื่องความกระจุกตัวของการใช้ช่องสัญญาณนั่นเอง
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัญญาณ WIFI ไม่มีความเสถียร
คือ ในเรื่องของระยะทาง สิ่งกีดขวาง การกระเจิง หักเหของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือถ้าสรุปง่ายๆ ก็คือถ้าอุปกรณ์ที่ใช้งาน ยิ่งมีระยะห่างจากอุปกรณ์กระจายสัญญาณ Wireless LAN เท่าไหร่ ก็จะทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลลดลงตามไปด้วย และที่ซ้ำร้ายกว่านั้น อุปกรณ์ทุกตัวที่เชื่อมต่ออยู่ในเครือข่าย Wireless LAN เดียวกันก็จะถูกลดอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลตามไปด้วย ทั้งนี้ รายละเอียดเรื่องการเข้ารหัสข้อมูล WIFI และข้อแนะนำในการใช้งาน Wireless LAN ที่เหมาะสม จะขอกล่าวถึงในโอกาสถัดไป
โปรดติดตามอ่านในตอนต่อไปนะครับ : )
เอกสารและบทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของบริษัท เอ็นไอดี โปรเกรส เทคโนโลยี จำกัด
อนุญาติให้คัดลอกและเผยแแพร่เพื่อการศึกษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ใดนำส่วนหนึงส่วนใดของบทความนี้ไปคัดลอกหรือเผยแพร่เพื่อการพาณิชย์ โดยไม่ได้รับอนุญาติ